Pawoot Personal Blog & Think Tank

E-Business Man Daily Life and What I'm Thinking

Archive for April 2018

ภาวุธ นำกลุ่มบริษัทไทยจับมือรัฐบาลมาเลย์เซียสร้างความร่วมมือการค้าออนไลน์เต็มรูปแบบ พลักดันไทย-มาเลย์ ขึ้นแนวหน้าศูนย์การค้าออนไลน์อาเซียน

leave a comment »

วันที่ 27 เมษายน 2561 ภาวุธ นักธุรกิจไทยด้านออนไลน์จับมือกับรัฐบาลมาเลย์เซียในการลงนามความร่วมมือทางการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศและการลงทุนขยายธุรกิจไทยด้านออนไลน์ไปมาเลย์เซีย โดยมี TARAD.com ขยายช่องทางไปในเว็บไซต์มาเลย์เซีย รวมถึงการร่วมลงทุนร่วมของ บริษัท SHIPPOP ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางออนไลน์ และ บริษัท SiamOutlet ผู้ให้บริการการจัดเก็บและส่งสินค้า โดยทั้ง 2 บริษัทไทยได้ขยายบริการออกไปที่ประเทศมาเลย์เซียร่วมกับบริษัท Commerce.asia บริษัทผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซของมาเลย์เซีย โดยมีตัวแทนจาก MDEC หน่วยงานด้านดิจิตอลของมาเลย์เซียและกระทรวงพาณิชย์ของไทยเป็นพยานในการลงนามครั้งนี้

.

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้บริหารบริษัทตลาดดอทคอม เปิดเผยว่าการลงนามนามความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลย์เซีย 3 โครงการ โดยมี

1. โครงการความร่วมมือ TARAD.com เว็บไซต์การค้าออนไลน์ของไทยกับ SiteGiant ผู้ให้บริการการค้าออนไลน์ของมาเลย์เซียเพื่อเชื่อมต่อการค้าออนไลน์ระหว่างกันโดยสามารถนำสินค้าจากไทยขายไปยังมาเลย์เซียและมาเลย์เซียมายังประเทศไทย

2.โครงการการร่วมลงทุนของ SHIPPOP มาเลย์เซีย (www.Shippop.com.my) บริษัทผู้ให้บริการขนส่งทางออนไลน์ในมาเลย์เซียโดยเป็นการร่วมลงทุนของบริษัท SHIPPOP ประเทศไทยและบริษัทคอมเมิร์ซดอทเอเซียของมาเลย์เซีย

3.โครงการการลงทุนใน LetMeStore มาเลย์เซีย (www.letmestore.com) บริษัทด้านการจัดเก็บสินค้าและจัดส่งสินค้า (Fulfilment) โดยเป็นการลงทุนของบริษัท Siam Outlet ประเทศไทย

.

นายสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ประธานกรรมการบริหารบริษัท SHIPPOP บริษัทสตาร์อัพเบอร์ต้นๆ ของไทย เผยถึงการขยายธุรกิจออกไปมาเลย์เซียว่า “เราได้เปิดให้บริการ SHIPPOP มาเลย์เซียมาตั้งแต่ปลายปี 2560 โดยได้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งหลักภายในประเทศมาเลย์เซียได้หมดแล้ว และมีผู้ใช้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างรวดเร็วทุกๆ เดือน โดยตอนนี้เป็นการให้บริการกับบริษัทในประเทศมาเลย์เซียเป็นหลัก และอนาคตจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งของประเทศไทยเข้าด้วยกัน โดยการทำงานทางทีมประเทศไทยจะเป็นทีมพัฒนาเทคโนโลยีหลักให้ SHIPPOP มาเลย์เซีย”

.

นางสาวพิมพ์ฐดา สหัชอติเรกลาภ ประธานกรรมการบริหารบริษัท Siam Outlet บริษัทคลังสินค้าและโลจิสติกส์สำหรับองค์กรธุรกิจและร้านค้าออนไลน์แบบครบวงจร ได้เปิดเผยถึงความลงทุนใน LetMeStore ผู้ให้บริการลักษณะเดียวกันในประเทศมาเลย์เซีย “เราโดยได้ลงทุน และยังนำเทคโนโลยีการบริหารคลังสินค้าและองค์ความรู้ของตนในประเทศไทยมาให้กับทีมทางมาเลย์เซียใช้อีกด้วย โดยเทคโนโลยีที่เราพัฒนามีความล้ำหน้าและตอบโจทย์ของการทำธุรกิจในมาเลย์เซียอย่างมาก โดยได้เปิดใช้มาตั้งแต่เดือน มกราคมที่ผ่านมา”

.

นายภาวุธ กล่าวว่า “การร่วมมือกับทางประเทศมาเลย์เซียครั้งนี้ จะทำผู้ประกอบการทั้งสองประเทศสามารถขยายช่องทางการค้าระหว่างกันผ่านทางออนไลน์ได้สะดวกและง่ายมากขึ้น โดยเป็นการพลักดันของภาคธุรกิจเอกชน ที่ต้องการเห็นความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกเหนือจากการร่วมมือของจีนที่พยายามจะบุกเข้ามาในอาเซียนมากขึ้น” โดยความร่วมมือทั้งหมดเป็นการร่วมกับบริษัท Commerce.asia บริษัทให้บริการ E-Commerce ครบวงจรของมาเลเซีย

.

“และเรายังได้เห็นพลังของนักธุรกิจไทยรุ่นใหม่ ที่สามารถขยายธุรกิจของไทยออกไปยังต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว โดยตัวอย่างๆ SHIPPOP เป็นบริษัทสตาร์ทอัพไทยที่ทำงานโดยทีมงานเด็กไทยเพียง 15 คน โดยอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 25 ปี ก็สามารถสร้างธุรกิจที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว และสร้างกำไรได้หลังจากเปิดธุรกิจมาเพียงปีกว่าๆ และยังขยายธุรกิจออกมาต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว หรือSiam Outlet ก็สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยหลังจากเปิดบริษัทมาเพียง 2 ปีก็สามารถนำเทคโนโลยีของตัวเอง มาขยายลงทุนต่อออกไปนอกประเทศ”.นี้คือตัวอย่างของรูปแบบของการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่เติบโต ขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่าการทำธุรกิจแบบเดิมๆ โดยไม่ได้มองแค่ตลาดในประเทศไทยเท่านั้น แต่มีการขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย โดยเป็นการสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นตัวหลักในการสร้างและขับเคลื่อธุรกิจ นี้คือตัวอย่างของบริษัทสตาร์ทอัพไทยที่ประสบความสำเร็จ และเป็นตัวอย่างให้กับบริษัทอื่นๆ ในประเทศไทย ที่นักธุรกิจไทยต้องมองและเดินตาม และรวมถึงยังเป็นการสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจอีกด้วย

แอบดู.! วันเดียว Alibaba ขนสินค้าเข้าไทยเท่าไร? และมูลค่าเป็นยังไง? เราควรปรับตัวแล้วหรือยัง?

with one comment

ครั้งก่อนวิเคราะห์เรื่อง Alibaba กำลังบุกไทยและอาเซียน (อ่านการวิเคราะห์ครั้งก่อน) โดยผมวิเคราะห์อีกมุมนึงที่ Alibaba น่าจะได้ดุลย์การค้าโดยการ “นำเข้าสินค้า”มากกว่าการ “ส่งออก” ของไทยออกไปจีน เลยนึกถึงข่าวเมื่อตอน Lazada (บริษัทในกลุ่ม Alibaba) ขายสินค้า (ทั่วอาเซียน) ในช่วงแคมเปญใหญ่ท้ายปี 2017 กับแคมเปญ 12.12 ในข่าวแจ้งชัดว่า Lazada มียอดขายวันเดียว 8 พันล้านบาททั้งภูมิภาคตามข่าว โดยมีการต้องเหมาลำเครื่องบิน (จากจีน) ส่งสินค้าเพิ่มเข้ามาในไทยและอินโดนิเซีย ซึ่งผมลองคำนวนคร่าวๆ ต่อว่าเราจะมี ในวันเดียวจะมียอดเงินที่คนไทยจ่ายออกไปซื้อสินค้าจีนประมาณ 333 ล้านบาทผ่าน Lazada หรือประมาณ 3 แสนรายการสั่งซื้อสินค้าที่จะเข้ามาในไทย เลยทีเดียว โดยผมได้ลองถอดข้อมูลออกมาจากข้อมูลที่ Lazada ให้ข่าวไว้ ลองมาดูรายละเอียดกันครับ

จากข้อมูลทั้งหมดที่ผมได้มาเราสรุปได้ว่าเพียง “วันเดียว” ในวันที่ 12.12 “Lazada ประเทศไทย”

  • มียอดขายประมาณเกือบ 1,500 ล้านบาท จากยอดสั่งซื้อ ประมาณ 1.48 ล้านรายการ
  • มียอดจากร้านค้าของจีนใน Taobao Colletion ที่คนไทยซื้อกันเพียงวันเดียว
    • ยอดขายประมาณ 333 ล้านบาท
    • จำนวนการสั่งซื้อประมาณ 3 แสนรายการ (ที่ต้องเหมาลำเครื่องบินมาส่งในไทย)

อีกเรื่องที่แอบกังวลเรื่องใหญ่ๆ คือรายได้ส่วนนี้ทั้งหมด “มีการเสียภาษีหรือไม่?”

ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้มีการเสียภาษี หากสินค้านั้นถูกส่งผ่านมาทางไปรษณีย์ ราคาสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาท จะไม่เสียภาษีขาเข้าครับ แต่หากเข้ามาด้วยวิธีอื่น อันนี้ก็ไม่แน่ใจแล้วล่ะครับ

** ตัวเลขทั้งหมดนี้เป็นการประเมินจากข้อมูลตัวเลขที่ได้มาจากข่าวครับ และเป็นข้อมูลเพียงจากวันเดียวของการขายที่เป็นวันที่ยอดขายสูงมากๆ ของปี ไม่อาจจะนำมาคำนวนเป็นยอดขายเฉลี่ยของทั้งปีได้ ยอดขายเค้าไม่สูงแบบนี้ตลอดทั้งปี และการคำนวนนี้เป็นการคำนวนคร่าวๆ จากข้อมูลข่าว อาจจะมีไม่ตรงกับข้อมูลภายใน ถ้าจะอ้างอิงข่าวนี้ กรุณาอ้างอิงส่วนนี้ด้วยครับ เราต้องแฟร์กับเค้าด้วย

*** กรุณาอ่านเจตนาของการทำข้อมูลนี้ของผมด้านล่างให้ชัดเจนด้วยนะครับ

ที่มาของตัวเลขผมขอลองคำนวนเล่นๆ จากสมมุติฐานด้านล่างครับ

  • ยอดขาย Lazada ทำได้ในวันเดียววันที่ 12.12 ทั้ง 6 ประเทศในอาเซียน = 250 ล้านเหรียญ = 8,200 ล้านบาทไทย (ข้อมูลจากข่าวที่ส่งมา)
  • ยอดคนเข้า Lazada ใน ประเทศแยกประเทศ (ข้อมูลจาก SimilarWeb.com)
  • ยอด Order ของร้านค้าจีน Taobao Collection = 1,830,201 order (จากข่าว)
  • ราคาเฉลี่ยต่อรายการสั่งซื้อ 1,000 บาท (estimate จากวงการ e-commerce ไทย)
  • ผมเอาสัดส่วนคนเข้าเว็บ หารด้วยเป็นสัดส่วนออกมาไปคำนวนตัวอื่นๆ ต่อ ได้เป็นตารางด้านล่างครับ

*** หากผมคำนวนอะไรผิดไปแจ้งได้เลยครับ

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าเพียงวันเดียว (ในวันที่มีการทำแคมเปญการค้ายิ่งใหญ่) ทาง Lazada มียอดขายสูงขนาดไหน และมีการซื้อสินค้าจากจีนผ่านทาง Lazada ทั่วอาเซียนถึง 1.8 ล้านรายการสั่งซื้อ และในไทยมีสูงถึง 3 แสนกว่ารายการ เป็นเม็ดเงินสูงถึง 3 ร้อยกว่าล้านบาท รวมไปถึงต้องมีการเหมาลำเครื่องบินจากจีน เพื่อขนส่งสินค้าจากจีนเข้ามาไทยและอินโดนิเซียเพิ่มมากขึ้น

*** อย่างที่เคยบอกไปนี้ นี้เป็นะเพียง “จุดเริ่มต้น” ของการมาของสินค้าจีนที่จะบุกไทยทางออนไลน์ ธุรกิจของคุณกำลังอยู่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หรือเปล่า หากรู้ตัวว่าสินค้าหรือบริการของธุรกิจคุณอยู่ในการเปลี่ยนแปลงนี้ จงปรับตัวและธุรกิจคุณได้แล้วครับ (อ่านตรงนี้ว่าทำยังไง https://pawoot.wordpress.com/2017/09/27/china-ecommerce-attack-thailand/) และผมยังยืนยันว่า ไม่ได้เห็นแย้งกับการมาลงทุนของกลุ่ม Alibaba แต่ต้องการให้คนไทย เห็นถึงอีกมุมหนึ่งของข้อมูลและต้องการพลักดันให้นักธุรกิจไทย “ตื่นตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเอง“​ ต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ครับ.!

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

.

ลองทำและประเมินเล่นๆ ต่อ…….

.

.

.

Alibaba กับการลงทุนไทย ผู้ประกอบการไทยเตรียมตัวหนีตาย.! กระทบวงกว้างแน่

with 11 comments

เป็นข่าวหน้าหนึ่งตามสื่อต่างๆ ของการมาของแจ็ก หม่ำในการเข้ามาลงทุนใน E-Commerce Park ในเขต EEC เป็นเงินนับหมื่นล้านบาท และสนับสนุนผู้ประกอบไทย รวมไปถึงการท่องเที่ยวไทยไปจีน ซึ่งผมว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก คงไม่มีนักธุรกิจไทยคนไหน ที่จะกล้าทุ่มเงินนับหมื่นๆ ล้าน มาลงทุนได้แบบนี้ (แต่ก็มีกลุ่ม Central และ JD.com จากจีน ที่กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้)
เม็ดเงินเหล่านี้จะเป็นการสร้าง “โครงสร้าง” พื้นฐานด้านการทำการค้าออนไลน์ ของกลุ่ม Alibaba ที่ยังสามารถขยายออกไปยังในกลุ่ม CLMV ได้อีกด้วย

สิ่งที่ผมกังวลกับการมาของ Alibaba ในการลงทุนในประเทศไทยเป็นหมื่นๆ ล้าน 

 1. ผู้ประกอบการไทยเตรียมตัวปรับตัวหนีตาย.!

การสร้าง E-Commerce Park เป็นการลงทุน “การสร้างการเชื่อมต่อกับจีน” โดยสินค้าไทย จะสามารถส่งออกไปจีนได้ง่ายสะดวกขึ้น และเช่นกัน “สินค้าจีนก็จะไหลเข้าไทยได้มากขึ้น สะดวกขึ้นได้เช่นเดียวกัน” โดยเฉพาะตอนนี้คนไทยหลายๆ คนนิยมซื้อสินค้าผ่านทาง Lazada และทาง Lazada เองก็กำลังพลักดัน Taobao Colletion หรือสินค้าจากจีนโดยตรง ที่ราคาถูกกว่า สินค้าของผู้ประกอบการไทยมากๆ และเมื่อสั่งซื้อ สินค้าเหล่านี้ก็จะเหาะมาจากโรงงานในจีน ตรงไปยังบ้านของผู้ซื้อคนไทยทันที โดยที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือ บริษัทตัวแทนนำเข้าอีกต่อไป ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าที่นำเข้าสินค้าจากจีนเตรียมเปลี่ยนงานได้ รวมไปถึง SMEs และผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ที่ตรงกับกลุ่มที่สินค้าจีนเข้ามาผ่านทาง Lazada (Alibaba) เตรียมตัวปรับตัว ซึ่งในระยะยาว ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัว หรือต่อสู้ได้ก็ต้องล้มหายตายจากไปเพราะต้นทุนและราคาสินค้าอาจจะต่อสู้กับสินค้าจีนที่เข้ามาไม่ได้เลย
.
.
เพราะสินค้าที่มาจากจีนโดยตรง จะมีราคาถูกกว่ามากๆ เพราะขายจากโรงงานโดยตรง และแน่นอน ปริมาณสินค้าจีนที่เข้าประเทศไทยจะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ๆ   ซึ่งจะกระทบหลายๆ อย่างเช่น ธุรกิจต้องปิดตัว และอัตราการจ้างงาน ก็อาจจะลดน้อยลงไป จะกระทบกับเศรษฐกิจในระยะยาว  แต่การเกิดจะค่อยๆ เกิดขึ้นกับ กลุ่มสินค้าและอุตสาหกรรมที่สินค้านิยมขายออนไลน์ อย่าง สินค้าแฟชั่น Gadget สินค้าต่างๆ
.
.

2.ตลาดค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าเตรียมตัวรับผลกระทบ 

ด้วยพฤติกรรมคนไทยจะซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสะดวกกว่า ราคาถูกกว่า จะทำให้ไปกระทบกับสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือตามตลาดนัดต่างๆ โดยตอนนี้เริ่มกระทบแล้วกับกลุ่มสินค้า นาฬิกา เครื่องสำอางค์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นกลุ่มสินค้าที่คนนิยมซื้อทางออนไลน์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนก็จะกระทบกับบรรดาธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ  และการกระทบนี้ จะขยายวงออกไปยังสินค้าในกลุ่มมากขึ้นเรื่อย
หากคุณนึกไม่ออกว่าจะกระทบขนาดไหน ให้มองดู Amazon เว็บ E-Commerce เบอร์หนึ่งของตลาดอเมริกาที่กำลังไล่ทุบ และกระถืบธุรกิจห้างสรรพสินค้า และร้านค้ามากมายที่ต้องปิดตัวลงไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับไทยแน่ๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
.

รายชื่อธุรกิจค้าปลีกของอเมริกาที่จะปิดตัวในปี 2018

 .
 .

3. การผูกขาดของผู้ให้บริการรายใหญ่รายเดียว 

 ผู้ที่จะชนะในเกมส์นี้จะมีแค่เบอร์ 1 กับ เบอร์ 2  ไม่สามารถมีพื้นที่ให้กับเบอร์ 3 ลงไป ดังนั้น “การผูกขาด” ของธุรกิจการค้าออนไลน์จะเกิดขึ้นแน่ๆ เพราะผู้ที่เข้ามาลงทุนก่อน ด้วยจำนวนเงินมหาศาลแบบที่ธุรกิจไทยแทบจะลงทุนแบบนี้ไม่ได้ ทำให้ Alibaba มีความได้เปรียบกว่า คนที่เข้ามาทีหลัง และยิ่งมีการลงทุนด้าน Infrastructure ไปก่อนจะยิ่งทำให้มีความได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ อย่างมาก ซึ่งหัวใจและความสำคัญของธุรกิจ E-Commerce คือ การเก็บและจัดส่งสินค้า (Warehouse & Fulfilment) ซึ่งตอนนี้ทาง Alibaba กำลังเร่งลงทุนอย่างมากในขณะนี้
 .
 .

4. แบงค์และขนส่ง รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ โดนกระทบกันเป็นลูกโซ่แน่ 

 สังเกตุดีๆ การลงทุนของกลุ่มจีน ไม่ว่าจะเป็น Alibaba หรือ JD.com นอกเหนือการลงทุนด้าน E-Commerce เค้ายังลงทุนในธุรกิจด้านการเงิน (Financial) ซึ่งด้วยข้อมูลอันมหาศาล (Big Data) จากการซื้อสินค้าของผู้ซื้อ และร้านค้า ทำให้เค้าสามารถนำเสนอบริการทางการเงิน อย่างเงินฝาก เงินกู้ หรือบริการประกันภัย ประกันชีวิต ออกไปยังกลุ่มลูกค้าได้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากกว่าธนาคารอย่างมาก เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศจีนแล้วที่ Alipay กำลังโหมกระหน่ำสู้กับแบงค์และวงการการเงินในประเทศจีน  นี้แหละทำไมแบงค์ชาติถึงยอมให้ธนาคารไทย หันมาทำ E-Marketplace ได้ด้วย เพราะเริ่มเห็นแล้วว่ายักษ์ใหญ่จากจีนกำลังมาแล้ว และมาแบบครบวงจร เลยอนุญาติให้ธนาคารไทยปรับตัวสู้
 .
รวมไปถึงธุรกิจการขนส่งที่ทางกลุ่ม Alibaba มีบริษัท Cainiao บริษัทด้านขนส่งขนาดใหญ่ของจีน ที่จะขยายเข้ามาในไทยอีกด้วย ซึ่งแน่นอนตรงนี้จะกระทบกับผู้ให้บริการขนส่งของไทยอย่างไปรษณีย์ไทยอย่างแน่นอน
.
ซึ่งทั้งหมดนี้จะกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการมาของกลุ่ม Alibaba คือมาทั้งกลุ่มธุรกิจ และสร้างให้เกิดระบบนิเวศ (ECO-System) ของเค้าเองโดยลูกค้าไม่ต้องหลุดออกไปไหน
 .
 .
ไม่ใช่มีแต่ข้อไม่ดี การมาของ Alibaba ก็มีข้อดีเช่นเดียวกัน อย่างที่รัฐไทยมองเห็นอยู่ได้แก่
.

ข้อดีของการลงทุนของ Alibaba

  1. กระตุ้นให้ E-Commerce ของไทยเติบโตมากขึ้น
  2. มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ จำนวนมาก
  3. ไทยจะเป็นศูนย์กลางด้านการกระจายสินค้าใน CLMV
  4. สินค้าไทยจะมีโอกาสออกไปจีนได้ง่ายมากขึ้น
  5. มีการพัฒนาผู้ประกอบการไทย (ส่วนหนึ่ง) ให้เก่งมากขึ้น
 .
.

Made in Internet หรือ Made in China?

แจ๊ก หม่ามาครั้งนี้พยายามจะยกคำว่า “Made in Internet” ก็คือสินค้านี้มาจาก Internet แทนการใช้คำว่า   Made in China เพราะสินค้าทั้งหมดต่อไปส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินค้ามาจากจีน และเหาะออกจากประเทศผ่านอินเทอร์เน็ตได้ไม่อยาก แต่หากจะพูดว่า Made in China ก็ทำให้ดูจีนได้เปรียบดุลย์การค้าหลายๆ ประเทศทั่วโลก ดังนั้นการเปลี่ยนไปใช้คำว่า “Made in Internet” มันก็จะทำให้การขายสินค้าจากจีน ดูเป็นกลางมากขึ้น ไม่ไปเอาเปรียบใคร (แต่จริงๆ แล้วก็ของจีนหมดแหละ)
 .
.

ความแตกต่างของนักลงทุนจีน กับนักลงทุนญี่ปุ่น

 เมื่อลองมาวิเคราะห์การลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น และจีน จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันมากๆ โดยนักลงทุนญี่ปุ่น จะเป็นการมาสร้างโรงงาน สร้างกำลังการผลิต จัดจ้างแรงงานของไทย ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ส่ิงสินค้าออกจากไทยไปทั่วโลก ซึ่งการลงทุนแบบนี้ ประเทศจะได้ผลประโยชน์อย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน การลงทุนของประเทศจีน ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure การขนส่ง การเก็บสินค้า โดยเป้าหมายเพื่อ “ขนสินค้าจากจีนเข้ามาในไทยได้สะดวกมากขึ้น” แทนที่จะมาลงทุนสรัางโรงงานและจัดจ้างแรงงานคน เพราะสินค้าจากจีนมีความได้เปรียบเรื่องราคาและต้นทุนกว่ามาก ดังนั้นทั้งสองประเทศมีการรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างกันมาก และผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับ ก็ต่างกันจริงๆ
 .
.

รัฐไทยต้องศึกษาให้ดี ให้ครบทุกๆ ด้านและสนับสนุน E-Commerce ไทยบ้าง

ตอนนี้ดูแล้วรัฐไทย ดูเหมือนจะรักนักลงทุนต่างชาติซะเหลือเกิน เปิดและสนับสนุน Alibaba ซะออกนอกหน้ามากๆ ก็เข้าใจอยู่ที่เค้าเอาเงินมาหมื่นๆ มาลงทุนในประเทศไทย แต่อยากให้รัฐศึกษาให้รอบๆ ด้าน ไม่ใช่ดูแต่ด้านเดียว ด้านที่เค้าบอกว่า เค้าจะเอาสินค้าไทยไปขายจีน พัฒนาผู้ประกอบการไทย แต่สิ่งเค้าพูดเป็นเหมือนความจริงด้านเดียว (Half Truth) เพราะในทางกลับกัน เค้าเองก็อยากจะช่วยนักธุรกิจจีน นำสินค้าจีนออกไปบุกทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องศึกษาเช่น ประมาณจำนวนสินค้าของจีนที่ไหลเข้ามาในไทยผ่านทางออนไลน์ เติบโตขึ้นเท่าไร และผลกระทบการเข้ามาสินค้าจีนทางออนไลน์จะกระทบกับธุรกิจไทยในรูปกแบบไหน ใครจะได้รับผลกระทบ ผมยังอยากให้รัฐคุยกับเค้าในเรื่องการส่งสินค้าไทยออกไปเยอะๆ แต่ต้องระวังการนำสินค้าเข้าประเทศให้มากๆ ซึ่งอนาคตไทยจะเสียดุลย์การค้ากับจีนอย่างหนักแน่ๆ และที่สำคัญคือ มันจะกระทบกับธุรกิจของไทยอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ
.
ที่เขียนมายาวขนาดนี้ไม่ได้ต่อต้านการมาของ Alibaba นะครับ แต่อยากให้เห็นความจริงอีกด้านที่ผมลองวิเคราะห์ และคาดการณ์ มันอาจจะถูกมันอาจจะผิด เราก็ต้องดูกันต่อไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ พฤติกรรมคนไทยจะซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้นแน่ๆ และธุรกิจไทยจะปรับตัวอย่างไร ลองอ่านตรงนี้ครับ https://pawoot.wordpress.com/2017/09/27/china-ecommerce-attack-thailand/
.
และเช่นเดียวกันรัฐไทยเองก็ต้องสนับสนุน E-Commerce ท้องถิ่นของไทยที่ตอนนี้ล้มหายตายจากไปเกือบหมดแล้ว เพราะไม่สามารถต่อสู้กับยักษ์ใหญ่ได้ และตอนนี้คณะกรรมการ E-Commerce ของชาติที่รวบรวมองค์กรรัฐต่างๆ รวมไปถึงเอกชนที่จัดตั้งขึ้นมาก็ดูจะเงียบและไม่ทำอะไรกันเลย เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่อง E-Commerce ของไทยก็มีหลายหน่วยงานซะเหลือเกิน จนเกิดการทำงานซ้ำซ้อนกัน หน่วยงานที่เหมาะสม ที่มีคน มีทรัพยากรที่จะมาพลักดันเรื่องนี้ กลับไม่ได้เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง แต่งานนี้ดันกลับไปอยู่กับหน่วยงานที่คนและทรัพยากร ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจด้าน e-commerce มาพลัดดัน ทางฝากเอกชนก็แอบเซ็งเหมือนกันครับ
.
.
ส่วนตัวอยากอาษาลุกขึ้นมา นำการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อยากเป็นคนปลุกภาครัฐให้สร้างแผน (มีอยู่แล้ว) และขับเคลื่อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมครับ หากรัฐทำไม่ได้จริงๆ จะให้ผมนำให้ก็ได้นะ ผมยินดี และพร้อมครับ
.
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
 .
.
.
ปล. การพลักดันของผมและชาวสมาคม e-commerce ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากับภาครัฐ ลองมาดูกันว่าพวกเราตั้งใจกันขนาดไหน… https://pawoot.wordpress.com/2017/06/30/thailand-e-commerce-roadmap/

Happy Student

leave a comment »